องค์ประกอบของบล็อก


ต่อไป เราจะเข้าลงลึกลงไปในการเขียนบล็อกให้มากขึ้นอีก ข้อให้ดูภาพองค์ประกอบของบล็อกด้านบน กับบล็อกที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านอยู่นี้ ประกอบไปด้วย

ส่วนที่อยู่บนสุด ทั้งซ้ายและขวา คือ Favicon กับ แถบนำทาง ไม่ต้องไปให้ความสนใจอะไรกับมันเลย  ผมก็ไม่เคยยุ่งกับ Gadget ทั้ง 2 ประเภทนี้เลย

ถัดลงมาที่ผมระบายสีปูนแห้งไว้นั้นคือ ส่วนที่เป็นชื่อของบล็อกที่เป็นภาษาไทย บล็อกที่ชื่อ “เขียนบล็อกกันเถอะ” ชื่อมาก็ปรากฏอยู่ส่วนนี้ จะมีวงเล็บว่า “ส่วนหัว” ไว้ด้วย

เมื่อดูในหน้าบล็อกจริงๆนั้น มีรูปผมใส่แว่น แล้วก็มี “ข้อความ ดร. มนัส โกมลฑา เพื่อเผยแพร่งานวิชาการด้านภาษาและปรัชญาสู่สังคมไทย” บรรทัดถัดลงมาคือ ชื่อบล็อก

ตรงนี้ ผมทำขึ้นมาเองคือทำเป็นรูปภาพขึ้นมา  ถ้าไม่มีภาพนี้ ตรงส่วนหัวนี้ก็จะมีข้อความชื่อของบล็อกที่ว่า “เขียนบล็อกกันเถอะ” ปรากฏอยู่

แต่มันไม่สวย และตากฎกติกาของบล็อกนั้น เราสามารถทำภาพให้เป็นส่วนหัวนี้ได้  ผมก็เลยทำขึ้นมา การทำไม่ยาก ทำด้วย Microsoft Word ก็ได้  จะอธิบายเมื่อถึงขึ้นตอนนั้น  ส่วนตัวของผมเอง ผมทำด้วยโปรแกรม InDesign

ถัดลงมาที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เส้นรอบวงประ แล้วก็มีข้อความว่า “เพิ่ม Gadget” นั้น ขอให้สนใจให้มาก เพราะ องค์ประกอบของบล็อกที่สำคัญก็คือ Gadget ทั้งหลายนั้นเอง

Gadget ที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเส้นประนี้ มีไว้เพื่อเพิ่ม Gadget เอาไปในหน้าบล็อก ส่วนนี้จะไม่ปรากฏออกมา

ต่อมาคือ ที่ผมทำแถบสีม่วงไว้ นี่คือส่วนของหน้าเว็บ  ส่วนที่ท่านอ่านอยู่มีอยู่ 2 แถบคือ หน้าแรก กับ บล็อกที่ผมเขียน

หน้าเว็บนี้ มีหลายหน้าได้ คือ มีหลายแถบได้ ข้อมูลจะเรียงอยู่ด้านบน  ผมเอาไว้ใส่ตารางของบล็อกทั้งหมดที่ผมมีไว้ตรงนี้  ใครอยากจะอ่านบล็อกอื่นๆ ก็ไปคลิกที่นั่น

แล้วก็ไปคลิกที่ชื่อของบล็อก ก็จะมีลิงก์พาท่านผู้อ่านไปอ่านบล็อกอื่นๆ ที่ผมเขียนไว้

ส่วนในแถบสีเหลืองจำนวน 4 แถบนั้น คือ การโฆษณาของ AdSense  กับ Amazon คนที่ทำบล็อกใหม่ๆ จะไม่มีแถบโฆษณานี้  แถบโฆษณาเหล่านี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้ 

ที่เป็นแถบสีเขียวทำมาจาก Gadget รายชื่อลิงก์  ก็คือส่วนที่เป็น Home Page, บทความบล็อกนี้ และ บล็อกที่ควรอ่าน

Gadget รายชื่อลิงก์  มีหน้าที่ลิงก์ให้ไปอ่านที่ที่ทำบล็อกไว้  ขอให้ลองคลิกดู  ตรง “บทความบล็อกนี้” ปกติของบล็อกแล้ว เมื่อเราเขียนบล็อก 1 บทความ ชื่อของบทความก็จะมีอยู่ตรงนี้ เรียงตามลำดับเวลา

ผมไม่ต้องการให้บทความของบล็อกเรียงตามลำดับเวลา แต่ต้องการให้เรียงตามที่ผมชอบ ผมก็เลยใช้ Gadget รายชื่อลิงก์ มาแทน

ต่อไปก็คือ ส่วนสำคัญคือ สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่อยู่ตรงกลาง ส่วนนี้คือ ส่วนของเนื้อหาของบทความที่จะนำไปลง

ความยาวของเนื้อหานั้น ไม่จำกัดแต่อย่าลืมว่า นิสัยของคนไทยนั้น ยาวมาก พี่ท่านก็จะไม่อ่าน ดังนั้น ผมว่ามือใหม่ๆ ไม่ควรเขียนเกิน 3 หน้า

ในการทำต้นฉบับ ก็ข้อให้ทำอย่างที่ผมกำลังทำอยู่นี้ คือ พิมพ์โดย Microsoft Word อย่างที่ผมทำอยู่คือ เป็นย่อหน้าสั้นๆ ไม่เกิน 3 บรรทัด เมื่อเสร็จ 1 ย่อหน้าแล้ว ให้เว้น 1 บรรทัด


เมื่อเราจะนำบทความนี้ไปลงในบล็อก ก็ Copy แล้วไปวางลงเลย  สะดวกสบายมาก

ส่วนท้ายสุดของหน้าคือ การแสดงที่มา ก็ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวด้วย

ขอแนะนำอีกว่า 

ในการเขียนบล็อกนั้น เราต้องมีต้นทุนในการเขียนมากพอสมควร  คือไม่ใช่ว่า มีเนื้อหาอยู่เพียง 5 บทความ แล้วก็มาเขียนบล็อกได้แค่นั้น  ไม่สามารถเขียนต่อได้อีก

อย่างนี้ ไม่สมควรที่จะมาเขียนบล็อก หาอ่านเพื่อแสวงหาความรู้ก็พอแล้ว

เพราะบล็อกนั้น ต้องมีการเคลื่อนไหวปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเขียนไป 1 บทความ แล้วก็ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรกับบล็อกอีกเลยเป็นเวลา 6 เดือน แล้วจึงมาเขียนใหม่อีก 1 บทความ

เพราะถ้าทำอย่างนั้น  ตัว Search ของ Google มันจะไม่เข้ามาหาบล็อกของเรา  บล็อกที่ Active คือ มีการเคลื่อนไหวปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น ที่ Search ของ Google จะหาเราพบ

ผมเคยเขียนบล็อกชื่อ “การตั้งค่าหน้ากระดาษ” มานานแล้ว ลงค้นใน Google ดูซิว่า จะอยู่ตรงไหนอันดับที่เท่าไหร่ของการค้นหา


จะเห็นว่า บล็อกของผมเองที่ขึ้นอับดับหนึ่ง  นี่แหละสุดยอดของการเขียนบล็อก 

ถ้าเราเขียนบล็อกไปแล้ว บล็อกที่เราเขียนยังไม่ขึ้นอยู่ภายใน 3 หน้า คือ ภายใน 30 อันดับ ยังถือว่า “ใช้ไม่ได้


อย่างไรก็ดี ไม่ต้องตกใจเพราะ เรามีวิธีที่จะทำให้บล็อกของเราติดอันดับต้นๆ ของการค้นหาได้ 



ธรรมชาติของบล็อก


เรามาดูความหมายของบล็อกจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อีกครั้งหนึ่ง ท่านว่าไว้ดังนี้

บล็อก (blog) เป็นคำรวมมาจากคำว่า เว็บล็อก (อังกฤษ: weblog) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง ซึ่งถูกเขียนขึ้นในลำดับที่เรียงตามเวลาในการเขียน ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่เขียนล่าสุดไว้แรกสุด

จะเห็นว่า บล็อกก็คือเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง  การเขียนนั้น จะเรียงตามลำดับเวลา แต่รายการอื่นๆ ในบล็อกหรือเว็บจะมีได้เหมือนกัน คือ มีเสียงได้ มีวิดิโอได้

เมื่อมาดูบล็อกของผม ขอให้ผู้อ่านดูหน้าบล็อกที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ จะเห็นว่า บทความของผม ไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา  แต่เรียงตามลำดับหัวข้อ

ตรงนี้ เป็นการดัดแปลงของผมเอง และใช้ Gadget ซึ่งเป็นเครื่องมือของบล็อก ไม่ได้นำมาจากที่อื่น รับรองทำตามไม่ยาก

ถ้าถามว่า ทำไมต้องมีการดัดแปลงบล็อก  คำตอบก็คือ ก็เพราะว่า การเรียงตามลำดับเวลาของบล็อกนั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผมได้  ผมจึงต้องดัดแปลง

คือ ผมต้องการนำเสนอความคิดที่ไม่เกี่ยวกับลำดับเวลา  แต่ต้องการเสนอตามลำดับหัวเรื่องที่ต้องการ

นี่เป็นธรรมชาติของบล็อกอันหนึ่งที่ควรรู้

ธรรมชาติต่อไปก็คือ โครงสร้างของบล็อก ก่อนอื่นขอให้ดูโครงสร้างของเว็บก่อน  จากภาพด้านล่าง


จะเห็นว่า เว็บไซต์นั้น จะคล้ายรากของต้นไม้  คือมีหน้า Home page เป็นรากแก้ว หน้าเว็บอื่นๆ ก็จะรากแขนง  ทุกหน้าเว็บจะมีชื่อเหมือนกันอยู่ข้างหน้า  ชื่อในตอนท้ายๆ จะไม่เหมือนกัน

แต่โครงสร้างบล็อกนั้น แต่ละบล็อกจะอยู่เป็นเอกเทศต่อกัน ไม่ได้อะไรเกี่ยวข้องกันเลย ดูภาพด้านล่าง


ขอยกตัวอย่างชื่อบล็อกในกลุ่ม “ปกิณกะ” ของผมเป็นตัวอย่าง

ปกิณกะ
url
1
ชีวิตที่ผ่านมา
2
เหตุการณ์บ้านเมือง
3
สาระดีมีประโยชน์
4
สะเดาะเคราะห์
5
ดร. มนัส ตอบปัญหา
6
ภาวะใกล้ตาย
7
เขียนบล็อกกันเถอะ




จะเห็นว่า แต่ละชื่อจะไม่มีอะไรเชื่อมถึงกัน  มีแต่ลงท้ายเหมือนกัน คือ blogspot.com ซึ่งเป็นชื่อบังคับ 

ชื่อที่เราสามารถตั้งได้ก็คือ ชื่อภาษาไทย กับชื่อภาษาอังกฤษที่ตามหลัง http://

ในแต่ละบล็อกนั้น จะเขียนบทความกี่บทความก็ได้  ซึ่งปกติมีคนแนะนำว่า ควรเขียนไม่เกิน 5 บทความ 

โครงสร้างของบล็อกดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาขึ้น  เพราะ ตามปกติแล้ว เราจะไม่เขียนแค่บล็อกเดียว แต่เราจะเขียนมากกว่านั้น

อย่างของผมเองนั้น ตอนนี้เขียนเข้าไปแล้วประมาณ 180 บล็อก ขอให้ดูที่แถบ “บล็อกที่ผมเขียน”  ที่นี้ เราจะทำอย่างไร ให้บล็อกต่างๆ นั้น มารวมกันคล้ายกับเว็บไซต์

ถ้าถามว่า จะทำอย่างนั้นทำไม  คำตอบก็คือ เพื่อให้ความสะดวกกับคนอ่าน เพราะ บล็อกนั้น เราจะเขียนเป็นกลุ่มๆ 

ขอให้ดูที่แถบ “บล็อกที่ผมเขียน”  อีกครั้งหนึ่ง การที่ผมเอาบล็อกทั้งหมดมาทำเป็นตารางเดียว แล้วก็ทำลิงก์ไปนั้น ก็เพื่อที่จะนำเอาบล็อกทั้งหมดมารวมไว้ในที่เดียวกัน 

คนอ่านที่อยากจะติดตามผลงานของผมก็สามารถติดตามได้สะดวก

ประเด็นที่สำคัญยิ่งก็คือ  การที่เราเขียนบล็อกขึ้นมานั้น ก็ต้องการให้มีคนเข้ามาอ่าน  ธรรมชาติของคนอ่านนั้น เขาจะค้นหาจาก Google  

บล็อกหรือเว็บก็ตาม ถ้าเขียนแล้ว ไม่ “link” กับใครเขาเลยนั้น  ตัวค้นหาของ Google มันจะไม่สามารถเข้าไปค้นหาได้

ตัวค้นหาของ Google มันจะทำงานคล้ายๆ แมงมุมกับไยของมัน ถ้าเขียนบล็อกแล้วทิ้งมันโดดเดี่ยวเหมือนเกาะกลางทะเล  ก็ไม่มีใครสามาถจะรู้ได้ว่า เรามีบล็อกเรื่องนี้อยู่

ดังนั้น เราจะต้องเขียนลิงก์ไปหา หรือทำสะพานให้บล็อกของเราเชื่อมอยู่กับบล็อกของคนอื่นๆ ด้วย 



แล้วจะเขียนอะไร

นี่คือ คำถามที่โคตรสำคัญที่สุดเลยคือ  แล้วจะเขียนอะไร

ในมหาวิทยาลัยของผมนี่ หมายถึง มหาวิทยาลัยที่ผมทำมาหากินอยู่ ผมไม่ได้สร้างมหาวิทยาลัยของผมเอง มีโครงการอบรมการเขียนเว็บ เขียนบล็อก ฯลฯ มากมายมหาศาล

ผมไม่เคยเข้าอบรมกับเขาหรอก ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งหลายนี่ ผมอ่านเอง และหาความรู้ด้วยตนเองทั้งนั้น  และเคยไปเป็นวิทยากรอบรมคนอื่นด้วย

เคยมีอาจารย์รุ่นน้อง เข้าอบรมแล้วก็มาปรึกษาผม ผมถามว่า “เขาอบรมเรื่องการเขียนเนื้อหาหรือเปล่า”  คำตอบก็คือ “ไม่”  ผมฟันธงไปเลยว่า “โครงการนี้ล้มเหลว

แล้วผมทายถูกอีกแล้วครับท่าน  เพราะ ปัญหาสำคัญเลยก็คือ เราจะเขียนอะไรในบล็อกของเรา

เว็บไซต์ บล็อก ฯลฯ นั้น พอเราทำเป็นแล้ว มันก็จบแล้ว คือ เราสามารถเขียนเป็นร้อยเว็บ พันเว็บ ร้อยบล็อก พันบล็อกได้แล้ว  แต่เนื้อหานี่สิ เราจะเอามาจากไหน

เรื่องเนื้อหาของบล็อกนี่ พวกที่ต้องการทำมาหากินกับบล็อก ถึงกับต้องจ้างคนอื่นเขียน แล้วก็มีคนมีอาชีพในการเขียนบทความของบล็อกด้วย

เราทำแบบมือสมัครเล่น ก็คงไม่ต้องถึงขนาดนั้น

ถ้ามีคนถามว่า “ผมไม่มีความรู้ที่จะเขียนออกมา”  คำตอบก็คือ “ก็อย่ามาเขียนบล็อก” ไปหาเรื่องอื่นๆ ทำเถอะ 

แต่ผมขอยืนยันว่า ทุกคนมีความรู้ มีศักยภาพที่จะเขียนบล็อกได้  นี่หมายถึง คนที่เข้ามาอ่านบล็อกของผมนะ  ไม่ได้หมายความรวมถึง คนบ้า คนปัญญาอ่อน หรือคนเมา ฯลฯ ด้วย

ขอยกตัวอย่างที่เป็นงานวิชาการก่อน เอามาจากวิกิพิเดีย


ความรู้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้สองประเภท คือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)

ความรู้ชัดแจ้งคือความรู้ที่เขียนอธิบายออกมาเป็นตัวอักษร เช่น คู่มือปฏิบัติงาน หนังสือ ตำรา เว็บไซต์ Blog ฯลฯ

ส่วนความรู้ฝังลึก คือความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ไม่ได้ถอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบางครั้งก็ไม่สามารถถอดเป็นลายลักษณ์อักษรได้

ความรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นความรู้ฝังลึกอยู่ในคนทำงาน และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง จึงต้องอาศัยกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คนได้พบกัน สร้างความไว้วางใจกัน และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันและกัน

จากข้อความข้างบน คนเราทุกคนมีความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) อยู่ในตัวเองทั้งนั้น ปัญหาก็คือ จะขุดความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ออกมาเขียนเป็น ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ได้หรือเปล่าเท่านั้น

ขอยกตัวอย่างจากตัวผมเอง

ก่อนอื่นขอให้ไปคลิกในแถบ “บล็อกที่ผมเขียน” ในบล็อกนี้ดูก่อน  เพราะ ที่นั่นเป็นรวบรวบงานเขียนบล็อกทั้งหมดไว้  บล็อกที่ผมเขียนไปแล้วประมาณ 180 บล็อก นับเป็นบทความก็น่าจะถึง 1,500 บทความ

ตรงนี้ขอบอกก่อนว่า ในบล็อก 1 บล็อกนั้น เราจะมีกี่บทความก็ได้ แต่ปกติแล้ว ใน 1 บล็อกมีคนแนะนำว่า ไม่ควรเขียนเกิน 5 บทความ

แต่อย่างไรก็ดี  บล็อกของผมนั้น บางทีก็มี 4 บทความ เพราะ มันไม่รู้จะเขียนอะไรอีก แต่บางทีก็มี 30 บทความ เพราะมันมีเรื่องที่จะเขียนมาก

บล็อกที่ผมเขียนนั้น สามารถจัดกลุ่มได้ ดังนี้

กลุ่มที่ 1
  • หนังสือหลวงพ่อวัดปากน้ำ
  • หนังสือคุณลุงการุณย์
  • ผมสอนวิชาธรรมกาย
  • วิชาธรรมกาย
  • จักรพรรดิ พระทรงเครื่อง
  • ความเลวของธัมมชโย
  • โจมตีวิชาธรรมกาย
  • สติปัฏฐาน 4
  • ความไม่รู้ของนักปริยัติ
  • ปรัชญากับศาสนา
  • วิทยาศาสตร์กับศาสนา


กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญที่สุด สาเหตุก็เกิดจากผมไปอ่านเจอหนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่ว่า “ต้องการเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระศาสนา”  ผมก็เลยตั้งคำอธิษฐานตามหลวงพ่อวัดปากน้ำ

และผมก็ทำอย่างจริงๆ จังๆ คือ เป็นวิทยากรสอนปฏิบัติธรรมด้วย แล้วก็มาเขียนบล็อกด้วย  ตอนนี้ชีวิตผมไม่ได้ทำอะไรอื่นเลย  ทำอยู่แค่นี้

งานเขียนส่วนใหญ่ก็เป็นการเผยแพร่วิชาธรรมกาย แก้ต่างให้วิชาธรรมกาย  เนื้อหาที่เน้นมากก็คือ มีใครโจมตีวิชาธรรมกายไว้อย่างไรบ้าง  เราก็เอาข้อเขียนนั้นมาโต้แย้ง

มีคนพยายามทำอย่างผมนี่หลายคน แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะ คนเหล่านั้นขาดความรู้เกี่ยวกับปรัชญา ขาดความรู้เกี่ยวกับตรรกวิทยา  ขาดความรู้เกี่ยวกับภาษาศาสตร์  บังเอิญผมมีครบ

ที่ว่าบังเอิญนั้น เป็นสำนวนภาษา ในความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนี้  ผมถูกส่งมาเกิดเพื่อทำงานนี้ ว่าอย่างนั้นเถอะ

กลุ่มที่ 2
  • คำทำนาย
  • เหลือบศาสนา
  • พระเลวในเมืองไทย
  • พระน่าสงสัย


เมื่องานเขียนในกลุ่มแรกมีแฟนคลับมากขึ้น บรรดาแฟนคลับก็ขอร้องให้ไปตรวจสอบคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง  เช่น เด็กชายปลาบู่  สมีเณรคำ เป็นต้น  จึงให้เกิดงานเขียนในกลุ่มนี้

กลุ่มที่ 3
  • ปกิณกะ
  • วิชาการ
  • ภาษาไทย ก.พ.
  • ความสามารถทั่วไป กพ.


งานเขียนบล็อกทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นนั้น  บางมีมันก็หมดไฟ คือ เบื่อบ้าง ฯลฯ  ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จึงมีงานในกลุ่มนี้ขึ้นมา

ดังนั้น ความรู้ที่จะเขียนนั้น คนที่อ่านบล็อกของผมมีทุกคน ทำอย่างไรที่จะ “กลั่น” ออกมาเขียนได้เท่านั้น

และผมขอยืนยันว่า การเขียนบล็อกนั้นไม่ยาก  อย่างที่ผมเขียนอยู่นี้ นึกอย่างไรก็เขียนไปเลย ไม่ต้องกลัวผิด เพราะ เดี๋ยวเรามาอ่านใหม่ เมื่อผิดเราก็แก้ไข ก็เท่านั้น

ข้อให้มีความกล้าที่จะเขียนเท่านั้น

สำหรับสำนวนภาษานั้น  ไม่ต้องห่วงเพราะ เมื่อเราเขียนบ่อยขึ้น สำนวนภาษาของเราจะดีขึ้นเอง ผมเห็นมามากแล้ว จากบรรดาแฟนคลับของผมนี่แหละ

ประการสำคัญที่สุดในการเขียนบล็อกก็คือ  เราต้องมีความคิดเป็นของตัวเราเอง  ถ้าไม่มีความคิดเป็นของตัวเราเอง อ่านของใครก็เชื่อไปหมด ไม่โต้แย้ง ไม่คิด แล้วเราจะเขียนอะไรออกมาได้

ประการสำคัญรองลงมาก็คือ “อ่าน”  ครับ  เราต้องอ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

ผมโชคดีที่อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ยกเว้นหนังสือเรียน อ่านมาโดยตลอด ว่างเมื่อไหร่ก็ต้องหาอะไรมาอ่าน  ถ้าไม่อ่าน ก็เขียนไม่ได้ 


คำว่า “อ่าน” ณ ที่นี้หมายถึง “ฟัง” ด้วย  หมายถึงว่า ฟังในสิ่งที่เป็นสาระความรู้ ไม่ใช่ฟังเพลง